ประวัติความเป็นมาประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ . ศ .2535 ได้มีการริเริ่มยกร่างเมื่อราวปี พ . ศ .2506 โดยกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าของเรื่อง โดยใช้ชื่อกฎหมายดังกล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติประกันภัยรถยนต์เพื่อบุคคลที่สาม พ . ศ . ……….. ซึ่งมีหลักการสาระสำคัญโดยสรุป คือ เจ้าของรถหรือผู้มีสิทธิครอบครองรถนั้น หรือ ผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว จะต้องวางหลักทรัพย์จำนวนหนึ่งไว้กับนายทะเบียน หรือโดยการเอาประกันภัยได้กับบริษัทประกันภัยในประเทศ เพื่อให้ความคุ้มครองแก่บุคคลภายนอกผู้ซึ่งได้รับอันตรายต่อร่างกาย หรือชีวิต อันเกิดจากอุบัติเหตุจากรถยนต์ที่ใช้หรืออยู่ในทาง หรือเนื่องจากสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งในรถนั้น แต่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้สะดุดหยุดลงในระดับกระทรวง
ต่อมาในปี พ . ศ . 2511 และ พ . ศ . 2520 กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการศึกษายกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นอีก การยกร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น ก็มีหลักการทำนองเดียวกัน แต่ได้เพิ่มหลักการการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ว่ารถคันใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหาย และให้บริษัทประกันภัยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทดแทนเป็นรายปีเพื่อเป็นกองทุนสำหรับจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยกรณีที่มีปัญหา ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้สะดุดหยุดลงในระดับกระทรวงอีกเช่นกัน
ครั้นต่อมาในสมัยรัฐบาลของ ฯพณฯ พล . อ . เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านได้เป็นประธานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติด้วย ได้พิจารณาเห็นว่าผู้ประสบภัยจากรถเป็นจำนวนมากไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงตกเป็นภาระของผู้ประสบภัยจากรถที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองหรือเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านการรักษาพยาบาลและการดำรงชีพ ประกอบกับในขณะนั้น ยังไม่มีกฎหมายใดที่ให้ความคุ้มครองทางการเงินแก่ผู้ประสบภัยจากรถในรูปแบบสากลที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศต่างๆ ถึงแม้จะมีพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกและพระราชบัญญัติรถยนต์ ทีมีมาตรการบังคับอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการ ควบคุมเฉพาะรถยนต์โดยสารรับจ้าง รถยนต์บรรทุกรับจ้างและรถยนต์รับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร ไม่เกิน 7 คน ซึ่งรถดังกล่าวมีจำนวนรวมกันแล้ว ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนรถที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศ ดังนั้น จึงได้มีคำสั่ง ที่ 16/2526 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2526 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อหามาตรการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ขึ้น คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจได้นำร่างพระราชบัญญัติประกันภัยรถยนต์เพื่อบุคคลที่สาม พ . ศ …… ฉบับหลังสุด ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ยกร่างขึ้นนั้นนำมาพิจารณาปรับปรุงหลายบทเพื่อให้เกิดความชัดเจนและคล่องตัวในการปฏิบัติยิ่งขึ้น โดยได้เพิ่มบทบัญญัติว่าด้วยวิธีการยึดรถและขายทอดตลาดรถ กรณีที่เจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้มีสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประผู้ประสบภัยขึ้นในกรมการประภัยเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับกองทุน และได้พิจารณาเปลี่ยนชื่อร่างพระราชบัญญัติเป็น “ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ . ศ . ………. แทนชื่อเดิม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ยกร่างเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ . ศ . 2528 และได้นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นชอบในเวลาต่อมา แต่รัฐบาลก็ได้สิ้นสุดวาระลงเสียก่อน
ในสมัย ฯพณฯ พล . อ . ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกแก๊สระเบิดที่ถนนเพชรบุรี และเกิดเหตุรถบรรทุกดินระเบิดระเบิดขึ้นที่จังหวัดพังงาในเวลาใกล้เคียงกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทั้งสองเหตุการณ์ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้นำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ . ศ . …….. นำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน และในระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอยู่นั้นก็เกิดการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ กฎหมายฉบับนี้ก็มีอันต้องตกไปอีก
จนกระทั้งในเวลาต่อมา กระทรวงพาณิชย์ได้นำร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี และได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีฝ่ายสังคมและกฎหมายตามลำดับเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2534 และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
ในที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวและได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2535
ครั้นต่อมาเมื่อได้มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลขึ้นใหม่โดยมี ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอญัตติด่วน เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
เพื่อพิจารณาอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับรถใหม่เพื่อให้เหมาะสม ที่ประชุมจึงได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้น พร้อมทั้งได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ( ฉบับที่ 2) พ . ศ . 2535 ขยายระยะเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 180 วัน
เจตนารมณ์ และเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติฯ
เนื่องจาก ปรากฎว่าอุบัติเหตุอันเกิดจากรถ ได้ทวีจำนวนมากขั้นในแต่ละปีเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยผู้ประสบภัยดังกล่าวไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือได้รับชดใช้ค่าเสียหายไม่คุ้มกับความเสียหายที่ได้รับจริง และหายผู้ประสบภัยจะใช้สิทธิทางแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายก็จะต้องใช้เวลาดำเนินคดียาวนาย ดั้งนั้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นที่แน่นอนและทันท่วงทีสมควรกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ จากเหตุผลท้ายพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว และนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้อาจสรุปเหตุผลและนโยบายในการตราพระราชบัญญัติฯ ของรัฐบาลได้ดังนี้คือ
(1) เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งได้รับอันตรายความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหายเบื้องต้นอย่างทันท่วงทีและแน่นอน จึงต้องตราพระราชบัญญัติ นี้ขึ้นมาบังคับ
(2) เพื่อให้พระราชบัญญัตินี้เป็นหลักประกันว่าผู้ประสบภัยจากรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียหายเบื้องต้นอย่างแน่นอนและทันท่วงที และเป็นหลักประกันได้ว่าสถานพยาบาลทุกแห่งจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลอย่างแน่นอนและรวดเร็วในการรับรักษาพยาบาลแต่ผู้ประสบภัยจากรถดังกล่าว
(3) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจประกันภัย ให้มีส่วนร่วมในการแบ่งเบาค่าเสียหายของผู้ประกันภัยอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุจากรถ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยบรรเทาภาระความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยและครอบครัวแล้ว ยังเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในด้านสวัสดิสงเคราะห์อีกด้วย
รถที่รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ พ.ร.บ.
1. รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2. รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน และมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด
3. รถของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการต่าง ๆ รถยนต์ทหาร
4. รถของหน่วยงานธุรการขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระขององค์กรใด ๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ผู้มีหน้าที่รับประกันตาม พ.ร.บ.
1. ผู้ประสบภัยจากรถอันได้แก่ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสารคนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ ก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้
2. ทายาทของผู้ประสบภัยข้างต้น กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ พ.ร.บ.
เนื่องจากเป็นการประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องทำประกันภัยความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย รัฐจึงกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยภาคบังคับนี้ให้ต่ำที่สุดเพื่อจูงใจให้ประชาชนเข้าสู่ระบบการประกันภัยตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงภาคธุรกิจ โดยให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยของรถเพื่อให้ธุรกิจที่รับประกันภัยประเภทนี้สามารถดำเนินการรับประกันภัยได้ด้วย จึงเป็นที่มาของหลัก No Loss No Profit คือ หลักของไม่ขาดทุนแต่ไม่ได้กำไร ซึ่งในการประกาศอัตราเบี้ยประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. กรมการประกันภัยได้มีการพิจารณาทบทวนและปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยที่แท้จริงในปัจจุบันเป็นระยะๆ เช่น การเพิ่มและลดอัตราเบี้ยประกันภัยของรถบางประเภท หรือการเพิ่มค่าเสียหายเบื้องต้น (15,000 บาท เป็น 35,000 บาท) และค่าสินไหมทดแทนส่วนเกิน (จาก 800,000 เป็น 100,000 บาท กรณีเสียชีวิต) และ ปัจจุบันกรมการประกันภัยมีสั่งนายทะเบียนกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ. เป็นอัตราเบี้ยคงที่อัตราเดียว แยกตามประเภทรถ และลักษณะการใช้รถ บริษัทไม่สามารถคิดเบี้ยประกันภัยต่างจากที่นายทะเบียนกำหนดได้
วิธีการจัดทำประกันภัย
1. ถ่ายเอกสารคู่มือการจดทะเบียนรถ และบัตรประจำตัวประชาชน
2. นำเอกสารไปติดต่อบริษัทประกันภัยที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถ รวมถึงสาขาของบริษัททั่วประเทศ แจ้งความประสงค์ของทำประกันภัยรถตามกฎหมาย
3. รับกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งจะเป็นใบเสร็จรับเงินด้วย
4. รับเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันภัย พร้อมตรวจสอบข้อมูลบนเครื่องหมายให้ถูกต้อง เช่น ชื่อบริษัทประกันภัย ชื่อรถ หมายเลขทะเบียนรถ หมายเลขตัวถัง ระยะเวลาสิ้นสุด และนำไปติดไว้ที่กระจกรถด้านใน หรือหากเป็นรถประเภทอื่นที่ไม่ใช่รถยนต์ต้องติดไว้ในที่ๆ สามารถเห็นไปได้ชัดเจน
บทลงโทษสําหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญิติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
– เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อรถผู้ใด ไม่จัดให้มีการประกันภัยรถยนต์ตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000.-บาท
– ผู้ใดนำรถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันภัยรถยนต์ตาม พ.ร.บ. นี้มาใช้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000.- บาท
– เจ้าของรถหรือผู้เช่าซื้อรถผู้ใด ไม่ติดเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันภัยตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000.- บาท
– ผู้ประสบภัยผู้ใดยื่นคำขอรับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้น โดยทุจริตหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จเพื่อขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นตามกฎหมายนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000.- บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– บริษัทประกันวินาศภัยซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรับประกันภัยรถบริษัทใดฝ่าฝืนไม่ยอมรับประกันภัยตามกฎหมายนี้ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000.- บาท ถึง 250,000.- บาท
– เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่บริษัทได้รับประกันภัยไว้ หากบริษัทใดไม่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัย (หรือทายาท) ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับการ้องขอจากผู้ประสบภัย ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ 10,000.-บาท ถึง 50,000.-บาท
– ผู้ใดปลอมเครื่องหมาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่ 10,000.-บาท ถึง 100,000.-บาท
– ผู้ใดติดหรือแสดงเครื่องหมายอันเกิดจากการปลอมเครื่องหมายกับรถคันหนึ่งคันใด ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับการปลอมเครื่องหมาย
– เจ้าของรถผู้ใดติดเครื่องหมายหรือแสดงเครื่องหมายที่ต้องส่งคืนต่อนายทะเบียน หรือเครื่องหมายที่ใช้ต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000.-บาท
ตารางอัตราเปรียบเทียบปรับ
ตารางอัตราเปรียบเทียบปรับ
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540
มาตรการ
เจ้าของรถต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยโดยประกันภัยกับบริษัท (มาตรา 7 และ มาตรา 9) โทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 37)
|
อัตราเปรียบเทียบปรับ
ความผิดครั้งที่ 1 เปรียบเทียบปรับ 500 บาท
ความผิดครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 1,000 บาท
ความผิดครั้งที่ 3 เปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท
ความผิดตั้งแต่ครั้งที่ 4 ขึ้นไป เปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท |
มาตรการ
ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถที่ไม่ได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย (มาตรา 11) โทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 39)
|
อัตราเปรียบเทียบปรับ
ความผิดครั้งที่ 1 เปรียบเทียบปรับ 500 บาท
ความผิดครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 1,000 บาท
ความผิดครั้งที่ 3 เปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท
ความผิดตั้งแต่ครั้งที่ 4 ขึ้นไป เปรียบเทียบปรับ 10,000 บาท |
มาตรการ
เจ้าของรถต้องติดเครื่องหมายไว้ที่รถ (มาตรา 12 วรรคสอง) โทษ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท (มาตรา 40)
|
อัตราเปรียบเทียบปรับ
ความผิดครั้งที่ 1 เปรียบเทียบปรับ 200 บาท
ความผิดครั้งที่ 2 เปรียบเทียบปรับ 400 บาท
ความผิดครั้งที่ 3 เปรียบเทียบปรับ 800 บาท
ความผิดตั้งแต่ครั้งที่ 4 ขึ้นไป เปรียบเทียบปรับ 1,000 บาท |
|
ความคุ้มครองเบื้องต้นตาม ประกันพ.ร.บ.
ผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บและเป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอค่าเสียหายดังกล่าวเรียกว่า ค่าเสียหายเบื้องต้น โดยมีจำนวนเงินดังนี้
– กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
– กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท
– กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น
เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิดต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย/ทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้
– กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลรวมกับค่าสินไหมทดแทน ไม่เกิน 50,000 บาท
– กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่ ถ้ามีค่ารักษาพยาบาลก่อนเสียชีวิตให้นำมารวมด้วย และรวมแล้วเท่ากับ 100,000 บาท
หลักสํารองจ่าย
ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถตั้งแต่ 2 คันขึ้นไป ก่อให้เกิดความเสียหาย
กรณีรถตั้งแต่ 2 คันขึ้นไปก่อให้เกิดความเสียหายต่างฝ่ายต่างมีประกันตาม พ.ร.บ. และไม่มีผู้ใดยอมรับผิดในเหตุที่เกิด ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองตามหลักการสำรองจ่าย ดังนี้
– กรณีบาดเจ็บ บริษัทที่รับประกันภัยรถคันที่ผู้ประสบภัยโดยสารมาขณะเกิดเหตุจะสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จ จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน แก่ผู้ประสบภัย
– กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะสำรองจ่ายทดแทน ค่าปลงศพ จำนวน 100,000 บาทต่อคน แก่ทายาทผู้ประสบภัย
ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคูกรณี
– กรณีผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัยดังนี้ ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นกล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หรือเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
– กรณีผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสารหรือบุคคลภายนอกรถ และผลคดียุติว่า ผู้ขับขี่รถคันที่โดยสารเป็นผู้กระทำละเมิด (ประมาทเอง) กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท และกรณีเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร จะได้รับการชดใช้จำนวน 100,000 บาท
หลักเกณฑ์ที่จะได้รับความคุ้มครองในกรณีสูญเสียสวัยวะ / ทุพพลภาพ
ผู้ประสบภัยจากรถที่ต้องสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพอย่างถาวรที่จะได้รับจำนวนเงินความคุ้มครองเท่ากับ 100,000 บาท ในกรณีใดกรณีหนึ่งต่อไปนี้
1. ตาบอด
2. หูหนวก
3. เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
4. สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
5. เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
6. จิตพิการอย่างติดตัว
7. ทุพพลภาพอย่างถาวร
บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นบริษัทประกันวินาศภัย จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับคำร้อง และจ่ายค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.แทนทุกๆ บริษัทประกันภัยได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทที่รับประกันภัยรถคันที่เกิดเหตุได้ ดังนั้น กรณีที่ผู้ประสบภัยจากรถที่มีประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยมีความต้องประสงค์จะขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น ค่าสินไหมทดแทนและเงินต่างๆจากพ.ร.บ.นี้ จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ก็สามารถกระทำได้ โดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มีสาขาให้บริการอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทกลางฯยังรับประกันภัยตาม พ.ร.บ.เฉพาะรถจักรยานยนต์ ในอัตราเบี้ยประกันภัยตามที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันสำนักงานใหญ่บริษัทกลางฯ ตั้งอยู่เลขที่ 65/42 (เอ) อาคารชำนาญเพ็ญชาติ บิสเนสเซ็นเตอร์ ชั้น 3 ถนนพระราม 9 ห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทร 02-643-0280 สายด่วน โทร.1356 ตลอด 24 ชั่วโมง และมีสาขาเพื่อให้บริการแก่ประชาชนทุกจังหวัดทั่วประเทศ
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มีหน้าที่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัทประกันภัย หรือเจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัย หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ เช่น รถชนแล้วหนี หรือเจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัยไม่จ่ายค่าเสียหาย ฯลฯ โดยค่าเสียหายเบื้องต้นที่สามารถจ่ายได้ คือ ค่ารักษาพยาบาลกรณีได้รับบาดเจ็บตามที่รักษาจริงไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต จำนวน 35,000 บาท แต่หากผู้ประสบภัยได้รับบาดเจ็บและต่อมาเสียชีวิตในภายหลัง ผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่รักษาจริงไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท ซึ่งรวมแล้วไม่เกินจำนวน 50,000 บาท การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนฯ ผู้ประสบภัยหรือทายาทต้องยื่นภายใน 180 วัน นับแต่วันที่มีความเสียหายเกิดขึ้น
เครื่องหมายที่แสดงว่ามีการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.
เมื่อทำประกันภัยผู้เอาประกันภัยจะได้รับกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพร้อมเครื่องหมายที่แสดงว่ามีการประกันภัย เครื่องหมายดังกล่าวต้องติดไว้ที่กระจกหน้ารถด้านในหรือติดไว้ในที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน การไม่ติดเครื่องหมายมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
การบอกเลิกกรรมธรรม์ประกันภัย
การบอกเลิกกรมธรรม์มี 2 กรณี ดังนี้
1. บริษัทบอกเลิก
1.1 ต้องแจ้งการบอกเลิกเป็นหนังสือ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงผู้เอาประกันภัย
1.2 ต้องแจ้งการบอกเลิกนั้นไปยังนายทะเบียน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทส่งหนังสือบอกเลิกไปยังผู้เอาประกันภัย
1.3 บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัย โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ใดใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน
1.4 บริษัทต้องส่งเครื่องหมายคืนนายทะเบียนหรือทำลายเครื่องหมายนั้นให้ใช้การไม่ได้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนด 30 วัน ที่บริษัทได้บอกเลิก
2. ผู้เอาประกันภัยบอกเลิก
2.1 ต้องแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษร และมีสิทธิได้รับเบี้ยประกันภัยคืนตามอัตราเบี้ยประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
2.2 ผู้เอาประกันภัยต้องส่งเครื่องหมายคืนนายทะเบียนหรือทำลายเครื่องหมายนั้นให้ใช้การไม่ได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยบอกเลิก
2.3 กรณีผู้เอาประกันภัยบอกเลิก บริษัทต้องแจ้งการบอกเลิกให้นายทะเบียนทราบเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์สิ้นผลบังคับ
|