การเตรียมตัวสอบใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราเรียนรู้และเข้าใจกฎหมายและเครื่องหมายจราจรแล้ว ยังเข้าใจในการใช้รถใช้ถนนได้อย่างปลอดภัย ตำรวจไม่จับ เวลาเกิดอุบัติเหตุใบขับขี่สำคัญมากๆ ในสมัยนี้ โดยเฉพาะ การประกันภัยชั้น 1 ที่รถใหม่ป้ายแดงถูกบังคับต้องทำประกันภัยทุกคัน แล้วถ้าคุณไม่มีใบอนุญาตขับขี่ในขณะเกิดอุบัติเหตุ หล่ะ… จะเกิดอะไรขึ้น จากที่คุณเป็นฝ่ายถูกจะกลับกลายเป็นฝ่ายผิดโดยไม่จำเป็น “เนื่องจากคุณไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถบนทางสาธารณะนั่นเอง”
เตรียมตัวอย่างไรก่อนการสอบใบขับขี่
– อันดับแรกคุณต้องศึกษาและเรียนรู้กฎหมาย และเครื่องหมายจราจรต่างๆ ให้เข้าใจเสียก่อน
– ต่อมาฝึกหัดขับรถให้เก่งพอประมาณหรือขั้นชำนาญเลยยิ่งดี ปรกติแล้วผู้ที่มีรถยนต์อยู่แล้วที่บ้าน อาจจะเป็นรถยนต์ของสามีหรือภรรยา ช่วยฝึกหัดให้ก็จะดี เมื่อมีความมั่นใจแล้วค่อยสอบใบขับขี่ ถ้าที่บ้านไม่มีรถยนต์ คุณสามารถเข้าคอร์ทเรียนขับรถยนต์กับสถาบันที่เปิดสอนก็ได้
คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์สอบใบขับขี่
– ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ ต้องมีอายุ 15 ปี ขึ้นไป
– ใบขับขี่รถยนต์ ต้องมีอายุ 18 ปี ขึ้นไป
– ไม่เป็นผู้พิการทางสายตา (ตาบอด)
– ไม่มีอาการตาบอดสี
สำหรับผู้พิการดังต่อไปนี้ ถ้าต้องการทำใบขับขี่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อรับคำปรึกษา
– ผู้พิการแขนขาดข้างเดียว
– ผู้พิการขาขาดข้างเดียว
– ผู้พิการตาบอดข้างเดียว
– ลำตัวพิการ
– หูหนวก
เอกสารในการยื่นขอสอบใบขับขี่
– บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา
– กรณีไม่มีบัตรประชาชน ให้ใช้บัตรข้าราชการ หรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ใช้แทน พร้อมสำเนา
– ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนา
– ใบรับรองแพทย์ มีอายุไม่เกิน 1 เดือน
– รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว (3×4 เซนติเมตร) ครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวก และแว่นตาดำ 2 รูป อายุไม่เกิน 6 เดือน
– ใบคำร้องขออนุญาตขับรถ จากกรมการขนส่งทางบก
ทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ดังนี้
– ทดสอบตาบอดสี โดยให้เรียกชื่อสีหลังจากเห็นสัญญาณไฟจราจรจำลอง
– ทดสอบสายตาทางลึก โดยการกดปุ่มเลื่อนเสา 2 เสา ให้อยู่ตำแหน่งตรงกัน
– ทดสอบสายตาทางกว้าง เป็นการทดสอบการมองกระจกข้าง โดยการจ้องที่จุดสีตรงกลาง แล้วมีสีต่างๆ ขึ้นมาให้เห็นทางหางตาทั้งสองข้าง ให้ตอบให้ถูกต้องว่าสีที่หางตาคือสีอะไร
– ทดสอบการใช้เท้า โดยการเหยียบคันเร่ง แล้วเหยียบเบรกหลังเห็นสัญญาณไฟแดง ต้องผ่านเกณฑ์ 2 ใน 3 ครั้ง
อบรมทฤษฎีการขับขี่รถยนต์ การอ่านป้ายจราจรต่างๆ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
สอบข้อเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีในการขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มีเวลา 1 ชั่วโมง
สอบปฏิบัติการขับขี่รถยนต์
ขั้นตอนต่างๆ หลายท่านอาจจะทราบบรรทัดฐานมาแล้ว แต่ผมจะเสริมในเรื่องที่หลายๆ ท่านอาจมองข้ามไป หรือคาดไม่ถึง ในความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งที่ควบคุมในการทดสอบ แต่ละเขตที่อาจจะมีไม่เท่ากัน ก็คือในเรื่องของเข็มขัดนิรภัย หรือที่เรียกกันติดปากว่า Safety Belt นั่นเอง…. เมื่อท่านเปิดประตูรถยนต์และก้าวเท้าเข้าไปนั่งเรียบร้อยแล้ว สิ่งแรกที่ควรทำคือคาด Safety Belt ทันที เพื่อป้องกันการลืม เพราะถ้าท่านไม่คาดท่านจำไว้เลยว่า ถึงท่านจะปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ท่านอาจจะไม่ผ่านการทดสอบภาคปฏิบัติก็ได้ ที่ผมต้องใช้คำว่า “อาจจะไม่ผ่าน” เพราะขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของเจ้าหน้าที่นั่นเอง